การเป็นนักสืบนั้น เป็นได้ทุกคน แต่นักสืบควรรู้ถึงเทคนิค
การเป็นนักสืบนั้น เป็นได้ทุกคน แต่นักสืบควรรู้ถึงเทคนิค วิธีการ ในการสืบสวน การที่จะเป็นนักสืบที่เก่ง หรือที่ดี มีประสิทธิภาพนั้น เป็นเรื่องที่ยาก ต้องมีความมานะอดทน และใช้ความพยายามสูง บางคดีต้องอดทน บางคดีต้องใช้เวลาสืบสวน หาร่องรอย เป็นระยะเวลานานมาก
นักสืบ ควรที่จะรู้จักเรียนรู้เทคนิค วิธีการสืบจากผู้มาก่อน หรือรุ่นพี่ๆ หรือผู้มีความรู้เเละประสบการณ์ เพื่อที่จะไม่เสียเวลาในการลองผิดลองถูกเมื่อต้องลงมือปฏิบัติหน้าที่ เรื่องมากมายหลายอย่างที่สามารถลองผิดลองถูกได้ แต่การเป็น นักสืบ ขอแนะนำอย่างยิ่งว่าไม่ควร ลองผิด ควรจะ ลองถูก เพียงอย่างเดียว เพราะว่าความผิดพลาดเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆของ นักสืบ หมายถึงเรื่องราว และปัญหาอีกมากมายที่จะตามมา อาจทำให้ต้องมาเสียเวลาแก้ปัญหา จนไม่สามารถบรรลุผลของการสืบได้
ความรู้พื้นฐานที่นักสืบควรรู้
1. การศึกษาภูมิศาสตร์ หรือภูมิประเทศ ตลอดจนสถานที่สำคัญ ๆ เส้นทางคมนาคมที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ต้องสามารถจดจำได้ดี และนึกภาพออกได้ทันที
2. ศึกษาคนในพื้นที่ทั้งคนดี และคนเลวทุกประเภท
3. ต้องเป็นคนที่ “ขี้สงสัย” ฝึกหัดตั้งปัญหาถามตัวเองอยู่เสมอ
4. ต้องระมัดระวังบุคคลที่จะไปหาข่าวให้เรา เพราะอาจจะมีลักษณะหลอกลวง หรือหน้าไหว้หลังหลอก ให้ข่าวที่เป็นเท็จหรือเข้าข้างฝ่ายคนร้ายก็ได้
5. ในกรณีการสืบสวนบางอย่างเราต้องทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเพราะความจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง เช่น ดักฟังโทรศัพท์ หรือลักลอบเปิดจดหมายอ่าน อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น
- เป็นการนำความลับมาเป็นข้อมูลในการสืบสวน หรือใช้ข้อมูลเพื่อซักถามพยานเท่านั้น
- ไม่สามารถนำความลับนั้นมาเป็นพยานหลักฐาน เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้
6. อย่าหวงงาน ถ้าเราไม่มีความสามารถพอ ก็ต้องมอบให้คนอื่นไปทำแทน
7. ต้องกล้าตัดสินใจในการที่จะหักหลังคนร้าย “สัจจะต้องไม่มีกับคนร้าย” ต้องเป็นผู้มีการตัดสินใจดี เมื่อมีเหตุเฉพาะหน้า
คำถามที่นักสืบต้องหาคำตอบ
ผลการสืบสวนคดีต่าง ๆ ผลของการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ผลของการตรวจพิสูจน์ร่องรอยของ
คนร้าย ได้ความเป็นประการใด นักสืบจะต้องจำ และเก็บรวบรวมเป็นข้อมูล หรือรวบรวมไว้ในบันทึก โดยจะต้องสืบให้ได้ความว่า คนร้ายแก๊งค์นี้เป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ทำผิดเมื่อไหร่ ทำไมจึงต้องทำผิด และกระทำอย่างไรบ้าง นักสืบ หรือสารวัตรสืบสวน หรือตำรวจฝ่ายสืบสวน จะต้องตั้งปัญหา คำถาม และตอบปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ทั้งนี้เพื่อความกระจ่าง และให้สิ้นสงสัย ในการซักถามผู้ถามจะต้องคอยสังเกตสิ่งผิดปกติ จากตัวผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยด้วยว่ามีพิรุธอย่างไร คำตอบนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หรือมีการซ่อนเงื่อนอย่างไร ผู้ซักถามจะต้องมีความฉลาด และจะต้องรู้จักต่อรองในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลในการสืบสวนที่ดีที่สุด การศึกษาพฤติกรรมระหว่างซักถาม สอบปากคำมีความสำคัญอย่างยิ่ง การที่ผู้กระทำผิดพยายามปกปิดความผิด จะมีพฤติกรรมแสดงออกเป็นระยะ ๆ เช่น เสียงสั่นเครือ ใบหน้าซีด หรือบางราย
ใบหน้าแดงกล่ำ ตอบคำถามไม่ตรงกับข้อมูลที่นักสืบทราบ จะกระพริบถี่ปกติ หาวโดยไม่ง่วงนอนเนื่องจากการโกหกของคนร่างกายต้องการออกซิเจนสูงจึงหาวออกมา การนั่งการยืนจะกระสับกระส่าย มือ เท้าจะแสดงพฤติกรรมที่แปลก ๆ เช่น ถ้าเป็นผู้หญิงจะจับแหวนหมุนไปมา จับผมเล่น ถ้าเป็นผู้ชายจะกำมือ จับมือ ถ้าถูกซักถามมาก ๆ และไม่อาจตอบคำถามได้ บางคนก็จะกอดอกแสดงการปกป้องตัวเอง เป็นต้น
Who = ใคร
- ใครเป็นผู้เสียหาย (แจ้งความ)
- ใครเป็นผู้ประสบเหตุ
- ใครเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น (เคยได้รับคำบอกเล่า)
- ใครเป็นผู้กระทำผิด และมีกี่คน
- ใครเป็นผู้สนับสนุน
- ใครที่กล้าพูดความจริงเรื่องนี้ และพร้อมที่จะเป็นพยาน
- ใครควรเป็นผู้ติดตามจับกุม ฯลฯ
What = อะไร
- มีอะไรเกิดขึ้น
- เป็นความผิดเรื่องอะไร
- พยานรู้เห็นอะไรบ้าง
- คนร้ายใช้อาวุธอะไร
- คนร้ายใช้ยานพาหนะอะไร
- คนร้ายได้ทรัพย์สินอะไรบ้าง
- คนร้ายทิ้งร่องรอยอะไรไว้บ้าง
- มูลเหตุในการกระทำผิดมีอะไร ฯลฯ
Where = ที่ไหน
- คดีเกิดขึ้นที่จุดไหน
- ผู้เสียหายอยู่ที่ใด กำลังทำอะไร
- พยานอยู่ที่ใด ห่างจากจุดเกิดเหตุเท่าใด
- พบอาวุธคนร้ายที่ไหน
- ผู้ต้องหาหลบหนีไปทิศทางใด
- จับผู้ต้องหาได้ที่ไหน
When = เมื่อไหร่
- คดีเกิดขึ้นเวลาใด
- ทราบการกระทำผิดเมื่อใด ฯลฯ
- คดีนี้แจ้งให้ตำรวจทราบเมื่อใด
- คนร้ายหลบหนีไปแต่เมื่อใด
- จับคนร้ายได้เมื่อใด ฯลฯ
Why = ทำไม
- ทำไมจึงเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น
- ทำไมจึงต้องทำแบบทารุณโหดร้าย
- ทำไมจึงต้องยิงกัน หรือจ้างฆ่า
- ทำไมจึงต้องปกปิดความจริง
- ทำไมจึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมหักล้างกัน ฯลฯ
How = อย่างไร
- ความผิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
- คนร้ายมีแผนประทุษกรรมอย่างไร
- คนร้ายได้อาวุธมาอย่างไร จากที่ไหน
- คนร้ายซ่อนตัวเข้ามาในบ้านได้อย่างไร
- คนร้ายวางแผนการทำงานกันอย่างไร มีใครร่วมด้วยบ้าง ฯลฯ
การรายงานผู้บังคับบัญชา
เมื่อนักสืบหรือตำรวจฝ่ายสืบสวน หรือสารวัตรสืบสวน เมื่อได้ทำการสืบสวนคดีที่เกิดขึ้น จนได้เรื่องราว และหาพยานหลักฐาน หรือทราบข้อมูล จะต้องรีบรายงานผลของการสืบสวนเป็นลายลักษณ์อักษรทุกระยะ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลว่า คดีที่เกิดขึ้นนั้นได้พยานมาจากใคร รู้เห็นเหตุการณ์อย่างไร คำพูดพยานน่าเชื่อได้หรือไม่เพียงไร คนร้ายที่หลบหนีหลบหนีไปอยู่ที่ใด กับใคร
2. หากมีการเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน หรือมีการแต่งตั้งโยกย้าย พนักงานสอบสวนคนเดิมผู้ที่มารับมอบงานสามารถอ่านเรื่องราวเดิม และรับช่วงต่อไปได้
3. เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบเหตุแห่งคดี และเรื่องราวในสำนวนการสอบสวนจะได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการต่าง ๆ ได้ถูกต้อง การรายงานดังกล่าวนี้ ให้รวมอยู่ในบันทึกพนักงานสอบสวนและต้องรวมไว้ในสำนวนเป็น “สำนวนการสืบสวน” (เว้นแต่เป็นเรื่องลับ หรือส่วนตัว ก็ไม่ต้องติดสำนวน)
โดยสรุปแล้ว พนักงานสืบสวนที่ดีนั้น จะต้องมีความรู้ความสามารถ มีปฏิภาณไหวพริบ มีคุณธรรม มีความสามารถที่จะจับกุมผู้กระทำผิด และสามารถติดตามหาทรัพย์สินของกลางที่หายไปหรือถูกลักทรัพย์ หรือชิงทรัพย์ เพื่อนำของกลางนั้นคืนมาให้กับเจ้าทรัพย์ได้เร็วทันท่วงที หรือนำทรัพย์มาคืนจนครบถ้วน เจ้าทรัพย์และประชาชนย่อมมีความศรัทธา เชื่อมั่นในฝีมือการทำงาน จะได้รับคำสรรเสริญยกย่อง คำชมเชยและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เป็นที่รักของผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา
การเป็นนักสืบนั้นเป็นได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นราษฎร หรือตำรวจทุกชั้นยศ แต่ทุกคนควรรู้วิธีการ
สืบสวนเบื้องตัน โดยต้องอาศัยจากการซักถาม หรือสอบสวนพยานผู้เสียหาย แต่การที่จะเป็นนักสืบที่เก่ง หรือนักสืบที่ดีมีประสิทธิภาพสูงนั้น เป็นเรื่องยากมาก ต้องมีความมานะอดทน และใช้ความพยายามสูง บางคดีต้องอดทน บางคดีใช้เวลาสืบสวนหาร่องรอยนานมาก
นักสืบที่มีคุณภาพนั้นต้องมีใจรัก มีความฉลาดไหวพริบ และมุ่งหน้าทำงานนั้น ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ท้อถอย หรือสืบสวนได้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆแล้วก็หยุด หากไม่มีความพยายามจะไม่ได้ผล บางครั้งเมื่อพบอุปสรรคก็หมดความพยายาม ไม่ทดลองหาวิธีการสืบสวนด้านอื่นต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นนักสืบที่ดีไม่ได้ ต้องระลึกเสมอว่า อาชญากรรมทุกประเภทจะต้องทิ้งร่องรอย หรือหลักฐานไว้เสมอ ร่องรอยหรือหลักฐานนั้นจะพบได้จากบริเวณที่เกิดเหตุ หรือบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง พยานหลักฐานที่รับฟังได้นั้น จะต้องเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น หลักฐานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคดีให้ตัดออก การได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้น ต้องได้มาโดยวิธีที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะต้องเก็บหลักฐานแต่ละชิ้น ทำเครื่องหมายหรือบันทึกย่อ ๆ ไว้ และจะต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อนำแสดงและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาในชั้นพิจารณาของศาล “ความละเอียดรอบคอบเป็นยอดปรารถนาของนักสืบ”
นักสืบที่ดีจะต้องมีสามัญสำนึกอันเที่ยงธรรม มีความจำดีและสามารถวินิจฉัยปัญญาได้ดี มีความวิริยะ อุตสาหะ ทำงานด้วยความบากบั่น และต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาการตำรวจเข้ามาช่วยเหลืองานสืบสวนด้วย จึงจะได้มาซึ่งพยานหลักฐานโดยครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
การนำพยานหลักฐานที่นักสืบสืบสวนมาเข้าสู่สำนวนการสืบสวน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดในการสืบสวน ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ และสามารถนำพยานบุคคลมาบิกความยืนยันการกระทำความผิดจนศาลพิพากษาคดีลงโทษผู้กระทำผิด จึงจะถือว่าได้ทำหน้าที่โดยครบถ้วนสมบูรณ์.
อ่านบทความน่าสนใจถัดไป การสืบพฤติกรรมชู้สาว
Be the first to comment on "ความรู้พื้นฐานที่นักสืบควรรู้"